3 เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง (Meningioma)
- Details
- Category: หมอศรัณย์เล่าให้ฟัง
- Written by อาจารย์หมอศรัณย์
- Hits: 43470
เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง (Meningioma) สมองที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะ จะถูกห่อหุ้มอยู่ด้วยเยื่อหุ้มสมอง (Mening) ซึ่งเยื่อหุ้มสมองดังกล่าวอาจจะเกิดความผิดปรกติ กลายเป็นเนื้องอกขึ้นมาได้ มักพบเนื้องอกของเยื่อหุ้มสมองในช่วงวัยผู้ใหญ่ และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนใหญ่เนื้องอกชนิดนี้เกิดขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ในบางคนอาจเกิดขึ้นมาเนื่องจากโรคทางกรรมพันธุ์ หรือบางคนเกิดขึ้นเนื่องจากเคยได้รับการฉายแสงที่ศีรษะเป็นต้น ในบางคนสามารถพบเนื้องอกของเยื่อหุ้มสมองได้มากกว่าหนึ่งก้อน
อาการ เนื่องจากเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองอาจจะเกิดขึ้นที่เยื่อหุ้มสมองส่วนใดก็ได้ ดังนั้นอาการที่แสดงออกมาขึ้นอยู่กับว่า ก้อนเนื้องอกนั้นไปมีผลรบกวนต่อสมองส่วนใด เช่น อาจจะมีอาการชัก อาการปวดหัวอาเจียน อาการตามัว เดินเซ เห็นภาพซ้อน ใบหน้าชา หูหนวก แขนขาไม่มีกำลัง หรืออื่นๆ
ระดับความรุนแรง เนื้องอกเยื่อหุ้มสมองเป็นเนื้องอกที่อยู่นอกสมอง ไม่ได้เกิดขึ้นในเนื้อสมองโดยตรง ก้อนเนื้องอกมีขอบเขตที่ชัดเจน และเนื้องอกส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตที่ช้า คนไข้มักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป ในเวลานานเป็นเดือนเป็นปี เนื้องอกส่วนใหญ่มีความรุนแรงอยู่ในระดับที่ 1 และสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัดออกให้หมด แต่อย่างไรก็ตามมีเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองส่วนน้อยมีความรุนแรงในระดับที่ 2 หรือระดับที่ 3 ซึ่งอาจจะไม่สามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ และคุกคามต่อชีวิต
การรักษา วิธีมาตรฐานที่ดีที่สุดในการรักษาเนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง คือ การผ่าตัดเอาออกให้หมด ซึ่งจะสามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจจะไม่สามารถผ่าตัดเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองออกได้หมดเสมอไปทุกครั้ง เนื่องจากบางครั้ง เนื้องอกอาจจะเติบโตหุ้มรอบเส้นเลือดสมองหรือเส้นประสาทที่สำคัญ ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต หรือพิการ ถ้าผ่าตัดออกหมด ในกรณีที่ผ่าตัดออกได้ไม่หมด แพทย์อาจจะแนะนำให้รักษาเนื้องอกส่วนที่เหลือโดยการฉายรังสี ซึ่งจะช่วยป้องกัน หรือชะลอไม่ให้ก้อนเนื้องอกเติบโตขึ้นมาใหม่
ในปัจจุบันการฉายรังสีสามมิติ สามารถเป็นการรักษาทางเลือกหนึ่ง ที่สามารถควบคุมการเติบโตของเนื้องอกได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขว่าก้อนเนื้องอกนั้น จะต้องมีขนาดเล็กเท่านั้น ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่จะไม่สามารถรักษาโดยการฉายรังสีได้
หลังจากฉายรังสีแล้วถึงแม้เนื้องอกจะไม่ยุบหายไป แต่จะมีขนาดคงที่ หรือโตช้าขึ้นมากและไม่เป็นภัยคุกคามต่อผู้ป่วยโดยทั่วไปแพทย์จะเลือกใช้การฉายรังสีสามมิติ กับเศษเนื้องอกขนาดเล็กที่หลงเหลือจากการทำผ่าตัด หรือใช้แทนการผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัด เช่นอายุมาก สุขภาพไม่แข็งแรง และมีเนื้องอกขนาดเล็กอยู่ในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดสูง
โดย นพ.ศรัณย์ นันทอารี อาจารย์สาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล สำหรับเผยแพร่สู่ประชาชนทั่วไป ที่ www.ThaiBrainTumor.com 10 ก.พ. 2552
หมายเหตุ
- บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อตอบสนองความตั้งใจจริงของ คุณ Admin ซึ่งเคยป่วยเป็นโรคเนื้องอกสมองและมีความประสงค์ที่ดีที่จะจัดทำ Web site ที่เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับคนไทยที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกสมอง
- เนื่องจากความรู้ทางการแพทย์มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเนื้อหาในบทความนี้จึงอาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในอนาคต รวมทั้งเนื้อหาในบทความนี้เป็นไปตามความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้นซึ่งไม่ได้ดีกว่า หรือถูกต้องกว่าความเห็นอื่นๆ ที่อาจจะแตกต่างกันออกไปแต่อย่างไร